พระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 "มหาราชของปวงประชาไทย" "พระภูมิพลมหาราช"  
ทรงพระเจริญ พระบิดาของแผ่นดิน ในหลวงของเรา
My King • Long Live The King Of Thailand |
|
พระราชกรณียกิจของ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทร
มหาภูมิพลอดุลยเดช
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
"พระภูมิพลมหาราช" รัชกาลที่ 9
(มหาราชของปวงประชาไทย)

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นประมุขแห่งประเทศไทย เป็นต้นมา พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ชาวไทยตลอดพระชนมายุของพระองค์ โดยพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์ คือ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ ของประเทศ ดังในปฐมพระบรมราชโองการในระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม
ในปี พ.ศ. 2539 จากการที่พระองค์ทรงงานเพื่อประชาชนอย่างหนัก จึงได้มีการลงนามโดยประชาชนชาวไทยเพื่อถวายสมัญญานามให้ทรงเป็น "มหาราช"

พระราชกรณียกิจด้านการเกษตรและการยกระดับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน "การเกษตรนั้นถือได้ว่าเป็นทั้งรากฐานและชีวิตสำหรับประเทศของเรา เพราะคนไทยเราส่วนใหญ่เป็นผู้มีอาชีพทางเกษตรกรรม ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นเสมอมาว่า วิธีการพัฒนาที่เหมาะสมแก่ประเทศเราอย่างยิ่ง ก็คือจะต้องทำนุบำรุงเกษตรกรรมทุกสาขาให้พัฒนาก้าวหน้า เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรทุกระดับให้สูงขึ้น"
ด้านการเกษตร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนใจด้านนี้ พระองค์ได้เสด็จเยี่ยม ไต่ถามความทุกข์สุขของประชาชน และรับฟังข้อปัญหาเกิดเป็นโครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการชลประทาน การพัฒนาดิน การวิจัยพันธุ์พืชและปศุสัตว์ เป็นต้น ดังหัวข้อต่อไปนี้

ทรัพยากรน้ำ
ทรัพยากรน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร พระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยพระราชทานแก่ คณะผู้อำนวยการสำนักงาน คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่า

"หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตนั้นอยู่ที่น้ำ ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้"
โครงการตามพระราชดำริของพระองค์ มีทั้งการแก้ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาอุทกภัย รวมไปถึงการบำบัดน้ำเสีย โครงการพัฒนาแหล่งน้ำมีทั้งโครงการขนาดใหญ่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมได้ เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่จังหวัดลพบุรี จนถึงโครงการขนาดกลางและเล็กจำพวก ฝาย อ่างเก็บน้ำ โดยพระองค์ทรงคำนึงถึงลักษณะของภูมิประเทศ สภาพแหล่งน้ำ ความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ ประชาชนที่ได้รับประโยชน์และผลกระทบจากโครงการ มาเป็นหลักในการพิจารณา พระองค์ได้ทรงวิจัยและริเริ่มโครงการฝนหลวง เพื่อช่วยบรรเทาภัยแล้งสำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทาน
ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลที่ประสบปัญหาน้ำท่วม และน้ำเน่าเสียในคูคลอง ทรงมีพระราชดำริเรื่องแก้มลิง ควบคุมการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน ลำคลองต่าง ๆ ลงสู่อ่าวไทยตามจังหวะการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล ทั้งยังเป็นการใช้น้ำดีไล่น้ำเสียออกจากคลองได้อีกด้วย เครื่องกลเติมอากาศ กังหันชัยพัฒนา ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยการเพิ่มออกซิเจน เป็นสิ่งประดิษฐ์หนึ่งของพระองค์ที่ได้รับสิทธิบัตรจาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖

เกษตรทฤษฎีใหม่
ทฤษฎีใหม่ เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับการจัดพื้นที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและมีชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีแบ่งพื้นที่เป็นส่วน ๆ ได้แก่ พื้นที่น้ำ พื้นที่ดินเพื่อเป็นที่นาปลูกข้าว พื้นที่ดินสำหรับปลูกพืชไร่นานาพันธุ์ และที่สำหรับอยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ ในอัตราส่วน 3:3:3:1 เป็นหลักการในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนี้
1. มีการบริหารและจัดแบ่งที่ดินแปลงเล็ก ออกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร ซึ่งไม่เคยมีใครคิดมาก่อน
2. มีการคำนวณโดยหลักวิชาการ เกี่ยวกับปริมาณน้ำที่จะกักเก็บให้พอเพียง ต่อการเพาะปลูกได้ตลอดปี
3. มีการวางแผนที่สมบูรณ์แบบ สำหรับเกษตรกรรายย่อย 3 ขั้นตอน เพื่อให้พอเพียงสำหรับเลี้ยงตนเองและเพื่อเป็นรายได้

เศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ชี้แนวทางการดำรงชีวิต ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสแก่ชาวไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา และถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
เศรษฐกิจพอเพียงมีบทบาทต่อการกำหนดอุดมการณ์การพัฒนาของประเทศ โดยปัญญาชนในสังคมไทยหลายท่านได้ร่วมแสดงความคิดเห็น อย่างเช่น ศ.นพ.ประเวศ วะสี, ศ.เสน่ห์ จามริก, ศ.อภิชัย พันธเสน, และศ.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา โดยเชื่อมโยงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งเคยถูกเสนอมาก่อนหน้าโดยองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนหนึ่งนับตั้งแต่พุทธทศวรรษ 2520 และได้ช่วยให้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในสังคมไทย
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในทางเศรษฐกิจและสาขาอื่น ๆ มาร่วมกันประมวลและกลั่นกรองพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 และได้จัดทำเป็นบทความเรื่อง "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" และได้นำความกราบบังคลทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2542 โดยทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทานและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำบทความที่ทรงแก้ไขแล้วไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนโดยทั่วไป เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ได้รับการเชิดชูเป็นอย่างสูงจากองค์การสหประชาชาติ ว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน โดยมีนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นด้วยกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แต่ในขณะเดียวกัน บางสื่อได้มีการตั้งคำถามถึงการยกย่องขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งความน่าเชื่อถือของรายงานศึกษาและท่าทีขององค์การ

พระราชกรณียกิจด้าน
การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พระองค์ทรงใช้ประสบการณ์และแนวพระราชดำริ โครงการหลวงในการพัฒนาและวิจัย พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อนำกลับมาพัฒนาประเทศ

พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความห่วงใยประชาชนชาวไทยในทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งพระองค์ทรงถือว่าปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนนั้น เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข ดังพระราชดำรัสที่ว่า ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ ก็คือพลเมืองนั่นเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นห่วง และเอื้ออาทรต่อทุกข์สุขของพสกนิกรอย่างจริงจัง โดยเฉพาะความทุกข์ของไพร่ฟ้าจากพยาธิภัย ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องที่ต่างๆ ทุกครั้ง พระองค์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ ทั้งแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่างๆ และแพทย์อาสาสมัคร โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในขบวนอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้รักษาผู้ป่วยไข้ได้ทันที นอกเหนือจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ริเริ่มหลายโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ดังนี้
• โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน
• โครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน
• โครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์
• หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน
• โครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
• โครงการแพทย์ หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้พระราชทาน
• โครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์
• หน่วยงานฝ่ายคนไข้ ในกองราชเลขานุการ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาสาขาแพทย์ศาสตร์ตอนหนึ่งว่า
"จึงใคร่ขอร้องให้ทุก ๆ คนตั้งใจ และพยายามปฏิบัติหน้าที่ให้ได้ผลสมบูรณ์จริง ๆ อย่าปล่อยให้กำลังของชาติต้องเสื่อมถอยลงเพราะประชาชนเสียสุขภาพอนามัย"
นับเป็นพระราชดำรัสที่แสดงถึงความตั้งพระทัยในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรอย่างแท้จริง ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดมั่นที่จะสืบทอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย และสมเด็จพระบรมราชชนนี พระมารดาของการแพทย์ชนบท ในการที่จะให้ประชาชนชาวไทยได้มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติสืบไป

พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีว่าการศึกษาของเยาวชนนั้นเป็นพื้นฐานอันสำคัญของประเทศชาติ ดังพระราชดำรัสที่ว่า
"การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคล หากสังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วนในทุกๆ ด้านแล้ว สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ สามารถดำรงรักษาความเจริญมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาก้าวหน้าต่อไปโดยตลอด"
พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริริเริ่มโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ดังนี้
• โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้การอุปถัมป์ในด้านต่างๆ เช่น ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ รวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนและพระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อสนับสนุนและเป็นกำลังใจแก่ครูและนักเรียนของโรงเรียน โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์มีทั้งโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน ดังนี้
• โรงเรียนจิตรลดา
• โรงเรียนราชวินิต
• โรงเรียนวังไกลกังวล
• โรงเรียนราชประชาสมาสัย
• โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
• โรงเรียนเพื่อลูกหลานชนบท
• โรงเรียนร่มเกล้า
• โรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน
• โรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือตามความจำเป็นเร่งด่วน
ทุนการศึกษาพระราชทาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบดีว่าเด็กและเยาวชนของไทยมิได้ขาดสติปัญญา หากแต่ด้อยโอกาสและขาดทุนทรัพย์สำหรับการศึกษา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อตั้งกองทุนการศึกษาหลายขั้นหลายทุน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ดังนี้
• ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดลขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แก่นิสิตนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเด่นในด้านต่างๆ ให้นิสิตนักศึกษาเหล่านั้นได้มีโอกาสไปศึกษาหาความรู้วิชาการชั้นสูงในต่างประเทศ และนำความรู้นั้นกลับมาใช้พัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
• ทุนเล่าเรียนหลวง
• ทุนมูลนิธิภูมิพล
• ทุนการศึกษาสงเคราะห์ในมูลนิธิราชประชานุเคราะห์
• ทุนมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิโรงเรียนราชประชาสมาสัย
• ทุนนวฤกษ์
• ทุนการศึกษาพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะกรณี

โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนเริ่มดำเนินงานเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า
"หนังสือประเภทสารานุกรมนั้น บรรจุสรรพวิชาการอันเป็นสาระไว้ครบทุกแขนง เมื่อมีความต้องการหรือพอใจจะเรียนรู้เรื่องใด ก็สามารถค้นหาอ่านทราบโดยสะดวก นับว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์เกื้อกูลการศึกษาเพิ่มพูนปัญญาด้วยตนเองของประชาชนอย่างสำคัญ โดยเฉพาะในยามที่มีปัญหาการขาดแคลนครูและที่เล่าเรียนเช่นขณะนี้ หนังสือสารานุกรมจะช่วยคลี่คลายให้บรรเทาเบาบางลงได้เป็นอย่างดี"
ปัจจุบันโครงการฯ ได้จัดทำหนังสือสารานุกรมไทยที่บรรจุความรู้ใน ๗ สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ขณะนี้มีออกมาแล้ว ๒๘ เล่ม โดยแต่ละเล่มได้จัดแบ่งเนื้อหาของแต่ละเรื่องออกเป็นสามระดับ เพื่อที่จะให้เยาวชนสามารถศึกษาค้นคว้าหาความรู้ได้ตามพื้นฐานของตน
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา
ในทุกๆ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เพื่อพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา แม้พระราชกรณียกิจนี้จะเป็นภาระแก่พระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์มาก แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชกระแสรับสั่งให้คงพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเอกชนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชทานแทนพระองค์
พระราชกรณียกิจด้านศาสนา
พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในการเปิดพระราชพิธีเนื่องในวโรกาสต่างๆอาทิเช่น พระราชพิธีบำเพ็ญการกุศล ทรงสนับสนุนให้มีการสร้างศาสนสถาน อีกทั้งยังทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกของทุกศาสนา ไม่ใช่เฉพาะแต่ศาสนาที่พระองค์ทรงนับถือ เนื่องจากทุกศาสนาต่างสอนให้คนเป็นคนดี

พระราชกรณียกิจด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ถึง ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ รวม ๒๗ ประเทศ เพื่อเป็นการเจริญพระราชไมตรีกับบรรดามิตรประเทศเหล่านั้นให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเพื่อนำความปรารถนาดีของประชาชนชาวไทยไปมอบให้กับประชาชนในประเทศต่างๆ โดยรายชื่อประเทศต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือน มีตามลำดับดังนี้
• ประเทศเวียดนามใต้ ระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๒
• สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ ๘ - ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๓
• สหภาพพม่า ระหว่างวันที่ ๒ - ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๑๔ มิถุนายน - ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• ประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ระหว่างวันที่ ๒๕ กรกฎาคม - ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• สาธารณรัฐโปรตุเกส ระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๒๙ - ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• ประเทศเดนมาร์ก ระหว่างวันที่ ๖ - ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๓
• ประเทศนอร์เวย์ ระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๓
• ประเทศสวีเดน ระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๓
• สาธารณรัฐอิตาลี ระหว่างวันที่ ๒๘ กันยายน - ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• นครรัฐวาติกัน เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• ประเทศเบลเยียม ระหว่างวันที่ ๔ - ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• ประเทศลักเซมเบิร์ก ระหว่างวันที่ ๑๗ ตุลาคม - ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• ประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๒๔ - ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ ๓ - ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๓
• สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๕
• สหพันธรัฐมลายา ระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕
• ประเทศนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๕
• ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ ๒๖ สิงหาคม - ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๕
• ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ ๒๗ พฤษภาคม - ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๖
• สาธารณรัฐจีน ระหว่างวันที่ ๕ - ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๖
• สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๖
• สาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ ๒๙ กันยายน - ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗
• สาธารณรัฐเยอรมัน ระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ (เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง)
• สาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ ๒๙ กันยายน - ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ (เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง)
• ประเทศอิหร่าน ระหว่างวันที่ ๒๓ - ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๐
• สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๖ มิถุนายน - ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๐ (เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง)
• ประเทศแคนาดา ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๐
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มิได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอีก เพราะทรงเห็นว่าพระราชภารกิจภายในประเทศนั้นมีมากมาย อย่างไรก็ตาม หากประมุขหรือรัฐบาลของประเทศใดกราบบังคมทูลเชิญให้เสด็จฯ ไปเยี่ยมเยือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชโอรส หรือพระราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี รวมทั้งเพื่อทอดพระเนตรวิทยาการ และศิลปวัฒนธรรมของชาตินั้นๆ
จนกระทั่งวันที่ ๘ - ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศลาว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งนับเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอีกครั้ง หลังจากที่ว่างเว้นมาเป็นเวลานานกว่า ๓๐ ปี
พระราชกรณียกิจด้านการต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น รวมไปถึงการเสด็จพระราชดำเนินออกให้การต้อนรับราชอาคันตุกะจากประเทศต่างๆ ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้บรรดาทูตานุทูตเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสาส์นตราตั้งในการเข้ามารับตำแหน่งในประเทศไทย และถวายบังคมทูลลาเมื่อครบวาระอีกด้วย

พระราชกรณียกิจด้านศิลปวัฒนธรรม
ทรงตั้งกรมมหรสพขึ้น เพื่อฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย
ทรงตั้งโรงละครหลวงขึ้นเพื่อส่งเสริมการแสดงละครในหมู่ข้าราชบริพาร
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกแบบอาคารสมัยใหม่เป็นแบบทรงไทย เช่น ตึกอักษรศาสตร์ ซึ่งเป็นอาคารเรียนหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาคารโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
พระราชกรณียกิจด้านการกีฬา
เรือใบเป็นกีฬาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเป็นพิเศษ พระองค์ทรงเป็นตัวแทนของประเทศไทยลงแข่งเรือใบในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 9-16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยทรงเข้าค่ายฝึกซ้อมตามโปรแกรมการฝึกซ้อม และทรงได้รับเบี้ยเลี้ยงในฐานะนักกีฬา เช่นเดียวกับนักกีฬาคนอื่น ๆ ในที่สุด ด้วยพระปรีชาสามารถ พระองค์ทรงชนะเลิศเหรียญทอง และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญทอง จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ท่ามกลางความปลื้มปีติของพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ และเป็นที่ประจักษ์แก่ชนทั่วโลก ทำให้พระอัจฉริยภาพทางกีฬาเรือใบของพระองค์ที่ยอมรับกันทั่วโลก พระองค์ยังได้ทรงออกแบบและประดิษฐ์เรือใบยามว่างออกมาหลายรุ่น พระองค์พระราชทานนามเรือใบประเภทม็อธ (Moth) ที่ทรงสร้างขึ้นว่า เรือใบมด เรือใบซูเปอร์มด และ เรือใบไมโครมด ถึงแม้ว่าเรือใบลำสุดท้ายที่พระองค์ทรงต่อคือ เรือโม้ค (Moke) เมื่อ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 เรือใบซูเปอร์มดยังถูกใช้แข่งขันในระดับนานาชาติที่จัดในประเทศไทยหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายคือเมื่อ พ.ศ. 2528 ในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13
นอกเหนือจากกีฬาเรือใบแล้ว ยังทรงเล่นกีฬาประเภทอื่น ๆ เช่น แบตมินตัน เทนนิส ยิงปืน เป็นต้น
อ้างอิง
• พระบรมเดชานุภาพแห่งรัชกาลที่ 9
• พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ วันพฤหัสบดี ที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๑
• พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะผู้อำนวยการสำนักงาน คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๙
• พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาของมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๒๒
• พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียน ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๔
• พระราชดำริ พระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๒
• ในหลวงกับการศึกษาไทย
• มูลนิธิอานันทมหิดล
• โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
• ตามรอยพระยุคลบาท โดยกรมประชาสัมพันธ์
• “เรือใบตระกูลมด” ผลงานจากฝีพระหัตถ์และแบบฉบับเฉพาะพระองค์
|

พระราชกรณียกิจ
ของรัชกาลที่ 9
"มหาราชของ
ปวงประชาไทย"
พระบาทสมเด็จพระปรมินทร
มหาภูมิพลอดุลยเดช
ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ เป็นประโยชน์
แก่ชาวไทยตลอดพระชนมายุของพระองค์ โดยพระราชกรณียกิจที่สำคัญคือ...
อ่านต่อ

พระราชประวัติของ
พระบาทสมเด็จ
พระปรมินทรมหา
ภูมิพลอดุลยเดช
สยามินทราธิราช
บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9)
ทรงเป็นพระมหากษัตริย์
ผู้เสวยราชย์นานที่สุดในโลก
ที่มีพระชนมชีพอยู่และยาว
นานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
ทรงเป็นพระมหากษัตริย์
พระองค์ปัจจุบันแห่งประเทศไทย แห่งราชวงศ์จักรี...
อ่านต่อ

เศรษฐกิจพอเพียง
ปรัชญาเศรษฐกิจ
พอเพียง
ของในหลวง
รัชกาลที่ 9
13 นักคิด ระดับโลก
เห็นด้วยกับแนวทางเศรษฐกิจ
พอเพียงและนำเสนอบทความ
บทสัมภาษณ์ เสนอแนวคิด
เศรษฐกิจพอเพียงให้แก่โลก
ได้รับการเชิดชูอย่างสูงจาก
องค์การสหประชาชาติ...
อ่านต่อ
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
My King - Long Live The King Of Thailand
|