รูปแบบการนวด
ยอดนิยมในเอเชีย
(ไทย อินเดีย ญี่ปุ่น จีน และเขมร)
► นวดศีรษะตำรับอินเดีย
การนวดศีรษะแบบอินเดียนั้นเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของสตรีชาวภารตะที่ใช้บำรุงรักษาเส้นผม ให้มีสุขภาพดี กลิ่นหอม และเป็นเงางาม คุณสุวรรณา รัตนเสถียร หรือคุณเล็ก ผู้เชี่ยวชาญการนวดศีรษะแบบอินเดีย เล่าว่า “การนวดศีรษะแบบอินเดียเน้นการนวดศีรษะ บ่า ต้นแขน หลังตอนบน ใบหน้า เนื่องจากบริเวณเหล่านี้ เป็นจุดที่คนสมัยใหม่ใช้มาก โดยเฉพาะคนทำงาน จะมีการสะสมความเครียดไว้ค่อนข้างสูง สังเกตได้จากมีอาการเมื่อยหลัง ไหล่ บ่า เมื่อยกล้ามเนื้อตา กระบอกตา” การนวดจะสัมพันธ์กับจักระ 3 แห่ง (จาก 7 แห่งทั่วร่างกาย) คือ จักระที่ 5 ซึ่งอยู่บริเวณคอ ซึ่งเกี่ยวกับการสื่อสาร การพูด การทำงานของหัวใจ ทรวงอก ปอด จักระที่ 6 ที่อยู่บริเวณหว่างคิ้ว ซึ่งเกี่ยวกับความคิด สมอง และจักระที่ 7 ที่กระหม่อม ซึ่งส่งผลต่อสมาธิและสัญชาติญาณ การนวดศีรษะแบบอินเดียนี้ยังช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ได้มากมาย เช่น ปวดศีรษะ ไมเกรน หูอื้อ นอนไม่หลับ การนวดใบหน้ายังช่วยแก้ปัญหาปวดและคัดจมูกจากการคั่งของของเหลวในโพรงไซนัสได้
► มหัศจรรย์นวดแผนจีน “ทุยหนา”
แพทย์หญิงอัมพร กรอบทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกฯ และหัวหน้าแพทย์แผนจีน ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าที่มาของการนวดทุยหนาว่า “การนวดทุยหนามีหลักฐานปรากฎอยู่ในบันทึก ‘หวงตี้นุ่ยจิง’ ซึ่งเป็นคัมภีร์การแพทย์แผนจีนเล่มแรกๆ ในสมัยราชวงศ์ชิงและฮั่น หรือราว 2,000 ปีก่อน ระบุว่ามีการใช้วิธีบริหารพลังภายในหรือชี่กงกับนวดทุยหนา เพื่อบำบัดรักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต อันเกิดจากความผิดปกติของเลือดลม หลังจากนั้นการนวดทุยหนาก็ได้รับการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องเรื่อยมา”
ปัจจุบันมีการใช้การนวดทุยหนาเพื่อป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวางขึ้น เหมือนศาสตร์การแพทย์แผนจีนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต การทำงานของอวัยวะผิดปกติ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ เป็นต้น
แพทย์จีน ไกรศรีสถาพร รองนายกสมาคมแพทย์จีนและหัวหน้าทุยหนาแห่งประเทศไทย รวมถึงตำแหน่งแพทย์จีนแห่งศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายลักษณะเด่นของการนวดแผนจีนทุยหนาว่า การรักษาโรคด้วยการนวดทุยหนามีจุดเด่นที่แตกต่างจากการนวดชนิดอื่น ๆ คือ ผู้ให้การรักษาต้องมีทั้งความรู้ ความแม่นยำในเรื่องของจุดต่างๆ ในร่างกาย รวมทั้งพลังชี่กงที่จะถ่ายทอด เพื่อผลักดันให้ลมปราณหมุนเวียนนั่นเอง ซึ่งสาเหตุนี้ทำให้แพทย์จีนที่ใช้การนวดทุยหนาในการรักษาไม่สามารถล้างมือในระหว่างการนวดได้ เพราะจะทำให้สูญเสียพลังและความร้อนจากฝ่ามือไป สำหรับวิธีการนวดไม่เพียงแต่ใช้มืออย่างเดียว ยังอาจใช้เท้าและข้อศอกได้ด้วย หรือใช้เครื่องมือนวดโดยเฉพาะบางอย่าง เช่น น้ำมันตุงชิง น้ำมันงา ผงหินลื่นหรือสารหล่อลื่นอื่น ๆ ทั้งนี้อาจใช้สมุนไพรจีนและการครอบกระปุกร่วมด้วย
► นวดชิอาซึ ศาสตร์การนวดญี่ปุ่น
การนวดชิอาซึ มีหลักการสำคัญคือคลายจุดที่แกร่งและเติมพลังให้กับจุดที่พร่อง ช่วยทำให้พลังชีวิต หรือ ชี่ ในภาษาจีน ซึ่งภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า กิ (Ki) เคลื่อนที่ให้เป็นปกติ โดยเชื่อว่าความผิดปกติของร่างกายเกิดจากการไหลเวียนของกิไม่สมดุล การทำนวดชิอาซึจึงเป็นการปรับให้การไหลเวียนของพลังกิเป็นไปอย่างสมดุล
ประโยชน์ของชิอาซึ
- ช่วยลดความเครียด และภาวะอ่อนเพลีย เมื่อนวดแล้วจะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งเหมาะกับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยอัมพฤกษ์ เพราะมีรายงานการวิจัยพบว่าช่วยให้ผู้สูงอายุ หลับลึก และไม่ตื่นกลางดึก
- ช่วยให้ระบบหมุนเวียนเลือดดีขึ้น และกล้ามเนื้อผ่อนคลาย จึงสามารถป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ได้ดี
ข้อควรระวังและข้อแนะนำ
- ผู้นวดควรตรวจเช็คร่างกาย และแจ้งอาการก่อนรับการนวด เพราะการนวดแบบนี้ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยหลายโรค อาทิ โรคติดต่อทางผิวหนัง โรคติดเชื้อ มีไข้สูง โรคระบบเลือด (เลือดออกง่าย และเส้นเลือดขอด) และผู้ป่วยมะเร็ง แต่สำหรับผู้หญิงที่มีรอบเดือนสามารถนวดเพื่อลดอาการอ่อนเพลียและปวดเมื่อยร่างกายได้
- ไม่ควรนวดในเวลาที่หิวมาก หลังอาหารทันทีหรือหลังอาบน้ำสระผมทันทีและหลังการนวดไม่ควรอาบน้ำหรือสระผมทันทีเช่นกัน ควรดื่มน้ำอุ่นเพื่อปรับสภาพร่างกาย
► นวดจับตะไซ มหัศจรรย์นวดจับเส้น สไตล์ไทย-เขมร
คุณชัชวาลย์ ชูวา หัวหน้าศูนย์สุขภาพตะบัลไพร เริ่มเล่าให้ฟังถึงภูมิปัญญาล้ำค่านี้ หัวใจสำคัญของการรักษาจึงอยู่ที่ศิลปะในการลงน้ำหนักมือบนเส้นและอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อย่างแม่นยำของหมอนวดจับตะไซ ที่มาจากการสั่งสมประสบการณ์ จนชำนาญ คนไข้จึงนอนใจได้ถึงความปลอดภัย
......................................................................................
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
......................................................................................
“โดยส่วนใหญ่คนไข้ที่มาหามักมีอาการปวดหลังหรือเป็นสตรีที่ปวดหน่วงบริเวณท้อยน้อย มีอาการตกขาว และประจำเดือนมาไม่ปกติ ซึ่งเป็นอาการของมดลูกอักเสบ หรือเคลื่อนที่ อาจเกิดจากการทำงานหนัก ยกของหนัก ใส่รองเท้าส้นสูง หรือใส่กางเกงเอวต่ำ เนื่องจากกางเกงจะไปกดรั้งกระดูกเชิงกราน” ถ้าเป็นเช่นนี้หมอจับตะไซจะนวดบริเวณเหนือกระดูกเชิงกราน ซึ่งเป็นตำแหน่งของปีกมดลูกให้คลายตัวก่อน แล้วจึงนวดบริเวณท้อง โดยใช้วิธีโกย และยกมดลูกให้เข้าที่ นอกจากจะบรรเทาอาการยอดฮิตของสุภาพสตรีได้แล้ว การนวดจับตะไซยังแก้อาการปวดหลัง ปวดต้นคอ หรือคอเคล็ด กับคนทุกเพศทุกวัยได้ชะงัดนัก
► จับเส้นแผนโบราณของ หมอเมืองคอน
อย่างที่รู้จักกว่า “การนวดจับเส้น” ต่างจากการนวดเพื่อผ่อนคลายอย่างลิบลับ เพราะการนวดจับเส้นหรือบางครั้งอาจใช้คำว่า “การนวดแบบเชลยศักดิ์” เป็นการนวดเพื่อแก้อาการโรคมากกว่าเป็นการนวดเพื่อผ่อนคลาย คุณอัศฐาพร แสวงรู้ หมอนวดจับเส้นเมืองคอน ผู้ได้รับการถ่ายถอดการนวดจับเส้นจากพ่อซึ่งเป็นหมอนวดแผนโบราณ เล่าหลักการรักษาว่า “หลักการนวดจับเส้นคือ เราต้องสังเกตกล้ามเนื้อของคนไข้ว่า มัดไหนตึง มันไหนหย่อน เมื่อจับได้ก็จึงค่อยไล่ลมที่อยู่ตามเส้นเลือด โดยใช้การกด กดหนักบ้าง เบาบ้าง เพื่อไล่ลม เมื่อลมในร่างกายเราหายไป เลือดก็ไหลเวียนไปซ่อมแซมอวัยวะที่ผิดปกติได้เหมือนเดิม” การนวดจับเส้นของคุณอัศฐาพร สามารถรักษาผู้ป่วยในกลุ่ม กล้ามเนื้ออักเสบ เคล็ดขัดยอก ท้องอืด ท้องเฟ้อ นอนไม่หลับ และสามารถไล่ลมบนใบหน้าให้ผิวหน้าเปล่งปลั่งได้อีกด้วย
► นวดตอกเส้นแบบ ล้านนา ต้านปวดเมื่อย
หมอบุญยืน ผ่องแผ่ว หมอสมุนไพรพื้นบ้านประจำคลินิกการแพทย์แผนไทย จังหวัดลพบุรี เล่าให้ฟังว่า “เส้นเอ็นคือส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยยึดโครงสร้างของร่างกายเข้าด้วยกัน ทำให้การเคลื่อนไหวเป็นไปโดยสะดวก หรือเป็นไปตามที่ร่างกายต้องการ และเมื่อเกิดอาการยึดติดซึ่งจะสังเกตได้จากรู้สึกปวดตึงตามส่วนต่าง ๆ เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดเส้นเอ็น เป็นโรคกระดูกทับเส้น เป็นต้น”
เมื่อถึงเวลานวดตอกเส้น เราจะเน้นไปที่จุดสำคัญ การตอกแต่ละครั้งจะตอกลงไปตามเส้นเอ็นที่เป็นจุดศูนย์กลาง ที่เราเรียกกันว่า “เส้นประธานสิบ” (อยู่รวมกันบริเวณเหนือสะดือขึ้นไปสองนิ้ว ต่ำจากสะดือลงมาสองนิ่วและที่ข้างสะดืออีกสองนิ้ว) ซึ่งจะมีเส้นเอ็นเล็กและเส้นเอ็นใหญ่กระจายออกไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น แขน ขา หน้าอก จอประสาท กระดูกสันหลัง บั้นเอว ข้อมือ ลงไปถึงเท้า อย่างใครที่มีอาการไหล่ติด ปวดหลังปวดเอว หรือบางที่ยกแขนไม่ขึ้น เป็นต้น สามารถรักษาให้หายในครั้งแรกได้เลยหรือคนที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต การนวดตอกเส้นจะช่วยคลายอาการปวดเกร็งให้เขาอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ
สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าเส้นเอ็นบริเวณที่จะนวดมีอาการบวมแดง เมื่อลองใช้มือกดดูนิดเดียวแล้วรู้สึกเจ็บ แบบนี้เป็นอาการของเส้นเอ็นอักเสบไม่ควรมานวดตอกเส้นเพราะจะยิ่งทำให้เจ็บและอักเสบมากขึ้น แต่สำหรับคนที่รู้สึกว่าเส้นเอ็นแข็งใช้มือกดไม่ลงและไม่มีอาการปวดร่วมด้วย อันนี้ควรมานวดตอกเส้นเพราะจะได้ผลดีกว่าการนวดธรรมดามาก เช่นเดียวกับผู้ที่เป็นเส้นเลือดขอดก็สามารถรักษาได้ด้วยการนวดตอกเส้นเช่นกัน
► นวดแบบชีวจิต
อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิตเป็นผู้ค้นคิดวิธีการนวดแบบชีวจิต โดยการปรับประยุกต์มาจากการนวดแผนโบราณ การนวดกดจุดฝังเข็มตามองค์ความรู้การแพทย์แผนจีน และการใช้พลังดัน-ต้านแบบไอโซเมตตริก เพื่อให้การนวดตัวเอง การนวดเพื่อนหรือคนที่เรารักได้ผ่อนคลายอย่างเต็มที่ การนวดแบบชีวจิต แบ่งเป็นสองประเภทด้วยกันคือ
- นวดกดกดจุดและกระตุ้นต่อมของร่างกาย เป็นการกระตุ้นและรีดให้ท็อกซินกระจายออกจากร่างกาย และขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นให้จุดต่าง ๆ ภายในร่างกาย ซึ่งเกี่ยวกับการไหลเวียนของโลหิต การหลั่งฮอร์โมนของต่อมต่าง ๆ ทำงานได้ดีขึ้นเมื่อกดจุดนี้ คลึงและดึงจุด-ต่อมต่าง ๆ ควรใช้สมาธิและการหายใจถูกต้องร่วมด้วย จะทำให้รู้สึกมีแรงและกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาทันที
- นวดคู่เพื่อการผ่อนคลาย โดยปกติเรามักนวดหลังจากออกกำลังกาย ซึ่งเมื่อออกแรงและออกกำลังกายเต็มที่ เราจะเหนื่อย เหงื่อออก หัวใจเต้นแรง ชีพจรเต้นเร็ว คงจะมีอาการเจ็บ ปวด ตึงและเมื่อยเป็นธรรมดา เราจึงตบท้ายด้วยการนวดและการผ่อนคลายให้ร่างกายสบาย หายเจ็บ หายปวด หายเมื่อยได้และสามารถออกแรงออกกำลังกายวันต่อไปได้อย่างกระฉับกระเฉงและมีชีวิตชีวา
► นวดน้ำมันลังกาสุกะ
การนวดน้ำมันลังกาสุกะ เกิดจากการรวบรวมองค์ความรู้จากหมอพื้นบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ากับการนวดแผนไทยราชสำนักเข้าด้วยกัน ในอดีตการนวดในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้จะมีแค่เฉพาะการนวดผู้หญิงหลังคลอดโดยโต๊ะบีแด (หมอตำแย) และการนวดแก้ปวดเมื่อยสำหรับผู้ชายเท่านั้น เมื่อเป็นการนวดผสมผสานหลายศาสตร์การนวดน้ำมันลังกาสะกุจึงมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร
สูตรการทำน้ำมันลังกาสุกะนั้นได้มาจากการคัดเลือกสมุนไพรที่ดีที่สุดของโต๊ะบีแด 15 คน นำมาต้มกับน้ำมันงาหรือน้ำมันถั่วเหลือง และผสมกับน้ำมันฮาบาตุสเซาดะห์หรือน้ำมันยี่หร่าดำที่ชาวมุสลิมเชื่อว่าสามารถรักษาโรคได้ทุกชนิด การนวดด้วยการใช้น้ำมันจะมีข้อดีตรงที่ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและผิวหนังชุ่มชื้น ซึ่งการจะทำให้น้ำมันซึมเข้าผิวหนังได้ดีต้องทำควบคู่กับการประคบร้อนด้วยก้อนหินเพื่อกระตุ้นระบบการไหลเวียนของเลือด ผ่อนคลายเส้นเอ็นและเนื้อเยื่อพังผืดต่าง ๆ
การนวดน้ำมันลังกาสุกะนั้นไม่มีข้อห้ามใด ๆ สามารถนวดได้ทุกเพศทุกวัย แต่เพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้นการนวดน้ำมันลังกาสุกะจะเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาปวดหัวเข่าโดยเฉพาะผู้สูงอายุและหญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีปัญหาเข่าเสื่อม หมอนวดก็จะใช้น้ำมันนวดบริเวณหัวเข่าและประคบร้อนด้วยก้อนหินเพื่อให้กล้ามเนื้อซึมซับตัวยาได้ดียิ่งขึ้น
เรียบเรียงบทความ
"รูปแบบการนวดยอดนิยมในเอเชีย (ไทย อินเดีย ญี่ปุ่น จีน เขมร)"
โดยกองบรรณาธิการ
www.YesSpaThailand.com
|