กฎ-ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข
เกี่ยวกับการนวดแผนไทย
ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนวดแผนไทย มี 3 ฉบับ คือ
1) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ.2544) เรื่อง การเพิ่มประเภทการนวดไทยในสาขาการแพทย์แผนไทย
2) ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย หรือสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2545
3) ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยบุคคลซึ่งปฏิบัติงานในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล กระทำการประกอบโรคศิลปะในความควบคุมของผู้ประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2545 ดังรายละเอียดดังนี้
.........................................................................................................
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
.........................................................................................................
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ.2544)
เรื่อง การเพิ่มประเภทการนวดไทยในสาขาการแพทย์แผนไทย
ด้วยในปัจจุบัน การนวดเป็นที่นิยมแพร่หลาย โดยลักษณะของการนวดถือเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับการบำบัดโรคอย่างหนึ่ง แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดไว้ในกฎหมาย ทำให้เกิดความหลากหลายในการปฏิบัติ ทั้งที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และที่ทำให้เกิดอันตรายต่อประชาชน
ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามมาตรา 5 (1) และมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ จึงออกประกาศกำหนดเพิ่มประเภทการนวดไทยในสาขาการแพทย์แผนไทย ดังนี้
ข้อ 1. การนวดไทย หมายความว่า การตรวจประเมิน การวินิจฉัย การบำบัด การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพและการฟื้นฟูสุขภาพ ด้วยวิธีการกด การคลึง การบีบ การจัด การดัด การดึง การประคบ การอบ หรือวิธีการอื่นตามศิลปะการนวดไทย หรือการใช้ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา ทั้งนี้ ด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย
ข้อ 2. คุณสมบัติและความรู้ในวิชาชีพของผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ ให้เป็นไปตามมาตรา 32 และมาตรา 33 (1) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542
ข้อ 3. การขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต เงื่อนไขในการประกอบโรคศิลปะ และการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542
ข้อ 4. การนวดไทยซึ่งกระทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขากายภาพบำบัด ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประเภทเวชกรรมไทย หรือประเภทการผดุงครรภ์ไทย หรือผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ให้กระทำได้ตามกรรมวิธีการประกอบวิชาชีพหรือการประกอบโรคศิลปะของตน โดยไม่ต้องขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประเภทการนวดไทยอีก
ข้อ 5. หากมีปัญหาการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้ประธานคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะเป็นผู้วินิจฉัย
ข้อ 6. ประกาศฉบับนี้ ให้บังคับใช้เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2544
ลงชื่อ กร ทัพพะรังสี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 118 ตอนที่ 25 ง วันที่ 27 มีนาคม 2544
.........................................................................................................
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
.........................................................................................................
ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข
ว่าด้วยบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย หรือสาขาการแพทย์แผนประยุกต์ ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะหรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2545 อาศัยอำนาจตามมาตรา 7 มาตรา 13 (2) และมาตรา 30 (5) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 มาตรา 36 มาตรา 39 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ ออกระเบียบไว้ดังนี้
ข้อ 1. ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย หรือสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2545”
ข้อ 2. ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3. ในระเบียบนี้
• “เจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าราชการ พนักงานของรัฐ พนักงานหรือลูกจ้างสังกัดกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หรือสภากาชาดไทย
• “องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่น” หมายความว่า ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศในราชกิจจานุเบกษา
• “ผู้ประกอบโรคศิลปะ” หมายความว่า ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย หรือสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์
• “ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม” หมายความว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม
• “ควบคุม” หมายความว่า การดูแลหรือกำกับดูแล
ข้อ 4. บุคคลที่กระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร เมืองพัยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หรือสภากาชาดไทย จะมอบหมายให้ทำการประกอบโรคศิลปะได้ ต้องเป็นบุคคลซึ่งระเบียบนี้กำหนด
ข้อ 5. บุคคลซึ่งได้รับมอบหมาย จะทำการประกอบโรคศิลปะได้เฉพาะ
• ตามที่กำหนดในระเบียบนี้
• เป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตามทมี่ได้รับมอบหมาย
• ต้องอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
ข้อ 6. ให้บุคคลซึ่งผ่านการอบรมตามหลักสูตรการแพทย์แผนไทยของกระทรวงสาธารณสุข หรือที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทย หรือคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์แล้ว ให้ทำการประกอบโรคศิลปะด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยได้ ดังต่อไปนี้
• ให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้นโดยการใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาแผนโบราณในบัญชียาสามัญประจำบ้าน และยาจากสมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน
• ให้บริการนวด อบ ประคบ และให้คำแนะนำเรื่องกายบริหารแบบไทยฤาษีดัดตนและสมาธิบำบัด บรรเทา ส่งเสริม และฟื้นฟูร่างกายและจิตใจในโรคและอาการดังนี้
ก. ปวดศรีษะจากความเครียด ปวดเมื่อยทั่วไป ปวดคอ ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดข้อ ปวดเอว ที่ไม่มีผลจากโครงสร้างกระดูกแตกหรือเคลื่อนที่อย่างร้ายแรง แต่เป็นการเจ็บปวดอันเนื่องมาจากกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นเกร็ง เมื่อยล้า ฟกช้ำ
ข. นวดเพื่อฟื้นฟูสุขภาพร่างกายผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือพิการต่างๆ และผู้สูงอายุ
ข้อ 7. ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านซึ่งได้ผ่านการอบรมและได้รับหนังสือรับรองความรู้ ความสามารถจากกระทรวงสาธารณสุข และยังคงเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ให้ทำการประกอบโรคศิลปะโดยใช้ยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร การนวด อบ การประคบ และวิธีอื่นตามที่กำหนดในแบบเรียนด้วยตนเองของกระทรวงสาธารณสุข
ข้อ 8. ในกรณีที่มีปัญหาตามระเบียบนี้ ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
ข้อ 9. ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้
ประกาศ ณ วันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2545
สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข